สมาคมไวน์ไทยวอนรัฐทบทวนกฎเหล็กหวั่นกระทบส่งออก

22 พฤศจิกายน 2549 19:19 น.

สมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย โชว์ตัวเลขส่งออกไวน์ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2545 หวังรัฐใช้เป็นข้อมูลทบทวนมาตรการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 ธันวาคม ชี้ส่งผลกระทบต่อเนื่องหลายฝ่าย ทั้งท่องเที่ยว เกษตรกร และการจ้างงาน หวั่นเป็นช่องทางสินค้าต่างประเทศบุกตีตลาด

นายวิสุทธิ์ โลหิตนาวี ประธานสมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย แจงข้อมูลและผลกระทบจากมาตรการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่อทุกชนิดที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคมนี้เป็นต้นไปว่า มาตรการดังกล่าวขาดความชัดเจนในหลายประเด็น และจะสร้างผลเสียให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไวน์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการคนไทยอย่างมาก โดยคาดว่ามูลค่าความเสียหายเบื้องต้นในทันทีนั้นจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท

นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญก็คือ การบังคับใช้มาตรการห้ามโฆษณาดังกล่าวโดยที่รัฐบาลไม่มีการศึกษาอย่างรอบคอบ จะเกิดผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตไวน์ของคนไทย ซึ่งเป็นการดำเนินธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้ปลูกองุ่น หรือผลไม้อื่นๆ รวมถึงการที่สถานที่ปลูกยังทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย นอกเหนือจากการผลิตไวน์ออกสู่ตลาด

นายวิสุทธิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ก็ยังส่งผลกระทบภายใน นั่นคือ ตลาดส่งออก ซึ่งกำลังมีทิศทางการขยายตัวที่ดี โดยปัจจุบันผู้ผลิตไวน์คนไทยรายใหญ่ที่เป็นสมาชิกผลิตไวน์จำหน่ายในประเทศและส่งออกประกอบด้วย สยามไวเนอรี่, พีบี วัลเลย์ (เขาใหญ่), ชาลาวัน, กราน-มอนเต้, แม่จัน แวลลี่ย์ และชาโต เดส บูมส์ ซึ่งมีการจ้างงานกว่า 1,200 คน และมีกำลังการผลิต 860,000 ขวด/ปี ก็มีตลาดส่งออกด้วยกันทั้งสิ้น คิดเป็นสัดส่วนถึง 50% โดยมีค่ายสยามไวเนอรี่ เป็นผู้ผลิตและส่งออกไวน์ไทยรายใหญ่ ภายใต้แบรนด์ "มอนซูน แวลลี่ย์" ซึ่งจากตัวเลขพบว่า การส่งออกในปี 2545 มีจำนวน 14,004 ขวด เพิ่มเป็น 30,004 ขวด ในปี 2546 และ 160,000 ขวดในปี 2547 และในปี 2548 มีการส่งออก 249,000 ขวด และคาดการณ์ในปี 2549 จะมีการส่งออกถึง 200,000 ขวด คิดเป็นอัตราการเติบโตในระหว่างปี 2545-2546 อยู่ที่ 570% อัตราการเติบโตปี 2546-2547 อยู่ที่ 200% และอัตราการเติบโตปี 2547-2548 อยู่ที่ 56%

แม้ประเทศไทยเพิ่งจะมีการผลิตไวน์ในระยะเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมา แต่การยอมรับในกลุ่มนักดื่มไวน์ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันการส่งเสริมอุตสาหกรรมไวน์นั้น ไม่เพียงแต่จะเป็นการส่งเสริมผู้ผลิตไวน์แบรนด์คนไทย แต่ยังเกี่ยวพันไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิเช่น แหล่งท่องเที่ยว ผลผลิตอื่นๆ นอกจากไวน์ รวมไปถึงการส่งเสริมอาชีพของเกษตรกรรม จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ควรจะหาวิธีการส่งเสริมด้านความรู้ให้กับผู้บริโภคมากกว่าการใช้มาตรการดังกล่าว ซึ่งในมุมมองของสมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย เห็นว่าอาจเป็นการทำลายธุรกิจของคนไทย และจะเปิดโอกาสให้สินค้าต่างชาติได้ประโยชน์แทน ทั้งนี้ในสัปดาห์หน้าสมาคมจะทำหนังสือยื่นต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง และยืนยันว่าจะสู้อย่างถึงที่สุดต่อไป